AMUSE SILKSCREEN

ลิขสิทธิ์รูปภาพ รู้ไว้ปลอดภัยกว่า

ลิขสิทธิ์รูปภาพ รู้ไว้ปลอดภัยกว่า

หลายคนคงคุ้นเคยกับการค้นหารูปภาพสวยๆ ในอินเตอร์เน็ต ไม่ว่าจะผ่านการค้นหาจาก Google , Bing หรืออีกหลากหลายเว็บไซต์รวมรูปภาพเด็ดๆ ไอเดียโดนๆ ต่างๆ จนบางครั้งอาจหลงลืมด้วยความเคยชินไปว่าหลายรูปภาพที่ค้นหาเจอนั้น สามารถเอามาใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาตจากใคร ทุกอย่างที่เจอในนั้นคือของฟรี หรือไปกันใหญ่กว่านั้น “ ก็จ่ายค่าอินเตอร์เน็ตไปแล้วนี่ จะเอาอะไรอีก!” เดี๋ยวๆๆ หยุดตรงนี้ก่อน ความเชื่อที่ยกมานั้นอาจนำเรื่องใหญ่กว่าเข้ามาหาตัวเรา นั่นคือการกำลังทำผิดกฎหมายว่าด้วยเรื่องลิขสิทธิ์ ซึ่งในปัจจุบันนับว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่คนทำธุรกิจควรต้องระมัดระวัง เพราะเมื่อใดก็ตามที่การกระทำอันคุ้นเคยของเรากลายเป็นการกระทำความผิดตามกฏหมายไปละก็ เรื่องปวดหัวและคดีความเกี่ยวกับเงินๆทองๆ หรือหนักหนาถึงขั้นติดคุกติดตารางนั้นย่อมไม่ใช่เรื่องที่น่ารื่นรมย์สำหรับเราแน่นอน

มาจำกัดเรื่องนี้ให้แคบลงที่คนทำธุรกิจขายเสื้อยืดเพื่อความชัดเจนอีกหน่อย ข้อควรระวังที่ต้องระลึกไว้ให้ดีคือ หากจะทำเสื้อยืดขายอย่างจริงจังแล้วล่ะก็ อย่าใช้รูปภาพที่หาเจอในอินเตอร์เน็ตโดยที่ไม่ได้รับการยินยอมจากแหล่งที่มา หรือ เจ้าของรูปภาพนั้นๆ เพราะรูปภาพต่างๆ ที่เราเห็นในอินเตอร์เน็ตนั้นมักจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์อยู่แล้ว แต่เราเองอาจละเลย หรือไม่ได้สนใจในรายละเอียดสำคัญในส่วนนี้นั่นเอง

ข้อพึงระวังอีกอย่างคือ อย่าติดกับดักเว็บที่ให้ข้อมูลกับเราประเภทว่า รวมรูปภาพฟรี! เด็ดขาด!

เพราะบางครั้งรูปที่เราพบเจอนั้นไม่ได้ฟรีจริงๆ ถึงขนาดให้เรานำไปใช้ต่อในเชิงพาณิชย์อย่างการไปดัดแปลง ทำซ้ำ สกรีนลงบนเสื้อยืดขายอย่างเปิดกว้างขนาดนั้น บางครั้งในการอนุญาต มักจะระบุเงื่อนไขของการใช้งานอย่างจำกัดเอาไว้ด้วย อาทิ ใช้ได้เฉพาะในการใช้งานส่วนตัว free for personal use ซึ่งหากต้องการใช้ในเชิงพาณิช์ด้วยควรดูที่เงื่อนไข free for Commercial use คือใช้ในการค้าขายได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมักขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอื่นๆ อีกเป็นรายละเอียดปลีกย่อยที่ทางเจ้าของรูปภาพเองกำหนดเอาไว้ อย่างบางครั้ง เรานำไปใช้งานเชิงพาณิชย์ได้ แต่ต้องให้เครดิตกับเจ้าของรูปภาพ เป็นต้น

ในบางครั้งเราอาจเคยผ่านตาลักษณะการให้การอนุญาตเรื่องลิขสิทธิ์ที่ยืดหยุ่นอย่าง สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ (Creative Commons: CC)
ซึ่งมีรายละเอียดสัญญาที่สามารถแบ่งได้อีก 6 รูปแบบใหญ่ๆ เช่น

  • อ้างอิงแหล่งที่มา (CC-BY)
  • อ้างอิงแหล่งที่มา ให้อนุญาตต่อไปแบบเดียวกัน (CC-BY-SA)
  • อ้างอิงแหล่งที่มา ห้ามดัดแปลง (CC-BY-ND)
  • อ้างอิงแหล่งที่มา ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า (CC-BY-NC)
  • อ้างอิงแหล่งที่มา ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า และให้อนุญาตต่อไปแบบเดียวกัน (CC-BY-NC-SA)
  • อ้างอิงแหล่งที่มา ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า และห้ามดัดแปลง (CC-BY-NC-ND)

หรือแม้แต่เงื่อนไขอื่นๆ อย่าง CC0 หรือ “ไม่สงวนลิขสิทธิ์” (No Rights Reserved / Public Domain)

จะเห็นได้ว่าเรื่องของลิขสิทธิ์ในปัจจุบันนั้นมีความละเอียดอ่อนและค่อนข้างสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดโดยที่ไม่รู้ตัวเป็นอย่างมาก ระมัดระวังและรอบคอบทุกครั้งก่อนนำรูปภาพมาใช้งาน เสียเวลาตรวจเช็คสักนิด ดีกว่านะจ๊ะ เพราะหากต้องมาเสียเงินเสียทองทีหลังมันไม่คุ้มกันจริงๆ เลยคุณเอ้ย!!

AmuseSilkscreen

"มีไอเดียแต่ไม่มีแหล่งผลิต คิดถึงเรา อะมิวส์ ซิลค์สกรีน" เราพร้อมให้บริการ รับสกรีนเสื้อ ไม่มีขั้นต่ำตอบทุกความสงสัยและให้คำปรึกษาเรื่องงานสกรีน ให้ทุกไอเดียของคุณเป็นจริงได้

All Author Posts